Pages

Monday, September 3, 2012

อินโฟกราฟฟิกกับนวลขนิษฐ์ พรหมจรรยา ตอนที่1: นำเสนอให้สนองความอยากรู้อย่่างสนุกสนาน

[ที่เห็นและเป็นอยู่] อินโฟกราฟฟิกกับนวลขนิษฐ์ พรหมจรรยา ตอนที่1: นำเสนอให้สนองความอยากรู้อย่่างสนุกสนาน:
ที่เห็นและเป็นอยู่
อินโฟกราฟฟิกกับนวลขนิษฐ์ พรหมจรรยา (ตอนที่1): นำเสนอให้สนองความอยากรู้อย่่างสนุกสนาน
นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์

กลางสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้ไปเห็นงานชิ้นหนึ่ง ที่เมื่อผมลองได้มีโอกาสได้อ่านได้เห็นแล้วก็นึกเสียดายที่โอกาสที่ได้มาเห็นงานชิ้นนี้ช้าไปหน่อย เพราะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับสภาพการเมืองในช่วงวิกฤตเดือนพฤษภาคม2553 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ผมทำหน้าที่รายงานข่าวจากภาคสนามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในหลายๆห้วงเวลาของการรายงานข่าว ผมก็มักจะนั่งนึกถึงวิธีการนำเสนอข้อมูลทางการเมืองเหล่านี้ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

2ปีผ่านไปผมเพิ่งได้มาเห็นงานอินโฟกราฟฟิก Political DNA Decoding ซึ่งทำให้ผมสามารถเห็นถึงความถี่ของการใช้คำพูดของสองคู่ขัดแย้งทางการเมืองที่ร่วมวงเสวนาที่สถานบันพระปกเกล้า ในวันที่28มีนาคม2553 ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการพบเห็นที่ช้านานมาบ้าง แต่ตัวชิ้นงานก็ยังคงควรค่าแก่การนำเสนอ
“Political DNA Decoding” งานอินโฟกราฟฟิกถอดรหัสการเจรจาในเดือนมีนาคม2553 ระหว่างรัฐบาลกับนปช. โดยนวลขนิษฐ์ พรหมจรรยา

เจ้าของผลงานชิ้นนี้ชื่อนวลขนิษฐ์ พรหมจรรยา (เบลล์) ทำงานเป็นกราฟฟิคดีไซน์เนอร์ ซึ่งตอนนี้เรียนปริญญาโทอยู่ที่มหาลัย Gerrit Rietveld Academy, Sandberg Instituut ภาคการออกแบบ ในเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งหลักจากผมใช้เวลาในการแอบดูผลงานของเธอด้วยความสนุกสนานและชื่นชอบในความสรา้งสรรค์ ทำให้รู้ว่านอกจาก Political DNA Decoding เบลล์ยังทำอินโฟกราฟฟิกน่ารักๆแต่เต็มไปด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง








เริ่มจากชิ้น
Political DNA Decodingก่อน ไม่ทราบว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรครับ?
มันเกิดจากความพยายามในการนั่งดูการเจรจาระหว่างตัวแทนผู้ชุมนุมและรัฐบาลในตอนนั้น สำหรับเรามันแปลกมากที่มีการถ่ายทอดสดทางทีวี เพราะแทนที่จะเป็นการเจรจากันจริงๆ กลับกลายเป็นการสร้างภาพออกสู่สายตาประชาชนมากกว่า พอฟังไป 15 นาทีแรกก็รู้สึกว่า ทนฟังไม่ไหว ต้องปิด แต่คิดไปคิดมาก็อยากรู้ว่าเค้าคุยอะไรกัน หรือแต่ละฝ่ายจะมีแนวโน้มหรือโฟกัสไปทางไหน เลยทำเป็นเกมนับคำขึ้นมา คือฟังไปด้วยนับไปด้วย ว่าฝ่ายไหนอ้างถึงอะไรมากกว่ากัน คำที่คิดไว้จ็จะเป็นกลุ่มคำที่คิดว่าต้องมีการพูดถึงแน่ๆ เช่น ประชาธิปไตย-เผด็จการ ความรุนแรง-ความสงบ ปัญหา-การแก้ไข เลยใช้โปรแกรมเอ็กเซลในการนับ สีแดงแทนฝั่งผู้ชุมนม สีน้ำเงินก็แทนฝั่งรัฐบาล งานที่ออกมาก็เป็นโทนของธงชาติไทยพอดี ใช้เวลาฟังไปด้วยนับไปด้วยประมาณ6ชั่วโมง เหนื่อยมากแต่ก็สนุกดี”
นอกจากPolitical DNA Decoding ยังมีงานอีกหลายชิ้นที่เกียวกับสังคม-การเมือง สนใจการเมืองมาก่อนแล้วหรือเปล่า?
งานส่วนใหญ่ที่พูดถึงเรื่องการเมืองไทยถูกทำขึ้นสมัยปี2553 ตอนนั้นก็เปิดdesign studioเล็กๆอยู่แถวประดิพัทธิ์ รับงานออกแบบกราฟฟิคให้กับลูกค้าทั่วไป พอถึงช่วงที่มีความวุ่นวายทางการเมือง ตอนนั้นค่อนข้างเครียด เศรษฐกิจก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ทำอะไรก็ลำบาก ไปไหนมาไหนก็ลำบาก คงรู้สึกเหมือนหลายๆคนที่เป็นคนกรุงว่า นี่มันเกิดอะไรขึ้น สับสน จริงๆแล้วไม่ใช่คนสนใจเรื่องการเมืองเลย เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ก็จะเปิดไปหน้าข่าวบันเทิง แต่ตอนนั้นเรื่องมันใกล้ตัวมากจนรู้สึกว่าเรื่องของบ้านเมืองก็คือเรื่องของตัวเรานี่แหละ”






วันที่เป็นจุดเปลี่ยน เกิดขึ้นหลังจากประชุมงานกับลูกค้าเสร็จแถวพญาไท ความสงสัยก็ผลักให้เราเข้าไปเดินดูแถวราชประสงค์ว่าคนที่มาชุมนุมเค้ามาทำอะไรกัน อยากรู้เรื่องอื่นๆนอกเหนือจากที่ข่าวนำเสนอ ตอนนั้นก็ใส่ชุดทำงาน ดูเป็นสาวออฟฟิศมาก ถือกล้องไปด้วย ซึ่งตอนแรกก็กลัว ไม่กล้าคุยกับใคร ร้อนก็ร้อน เดินไปซักพักเลยไปนั่งอยู่แถวสะพานลอย จนมีคุณตาคนนึงเป็นการ์ดนปช.เดินมาชวนคุย บอกว่าเราก็เปิดประเด็นว่าร้อนนะคะ มาอยู่ทั้งวันได้ยังไง ตาแกก็ขำแล้วก็บอกว่าชินแล้วนอนก็นอนนี่ แล้วก็เริ่มคุยกัน แล้วก็ไปถามไปคุยกับผู้ชุมนุมแถวนั้น ส่วนใหญ่ก็ยินดีจะตอบข้อสงสัยของเราว่า พี่มาทำอะไร ไม่เหนื่อยเหรอ โดนจ้างมารึเปล่า หลายๆคำตอบก็เป็นมุมที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อน หลายๆอย่างเราไม่เห็นด้วยแต่อย่างน้อยก็ได้เข้าใจมากขึ้น ความรู้สึกแรกเลยที่เปลี่ยนไปคือพอกลับถึงบ้านแล้วดูข่าว ก่อนหน้านี้คนกลุ่มนี้สำหรับเราคือใครไม่รู้ ใส่เสื้อแดง โหด น่ากลัว แต่ตอนนี้ก็รู้สึกว่าในส่วนที่เล็กลงไปกว่ากลุ่มก้อนผู้ชุมนุมในทีวี ก็เป็นคนธรรมดาลุงป้าน้าอาเนี่ยแหละ แย่บ้างดีบ้าง มาด้วยเหตุผลต่างๆกันไป ก็เลยเอาสิ่งที่ได้คุยกันวันนั้นเขียนลงบนบล็อกกระจายให้เพื่อนได้อ่าน”
เลยกลายเป็นที่มาของการทำอินโฟกราฟฟิกเกี่ยวกับประเทศไทยหลายชิ้น
?
“ใช่ค่ะ หลังจากนั้นก็รู้สึกว่าอยากทำอะไรแบบนี้อีก คือพูดถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากมุมมองของเรา นอกเหนือจากสื่อหลักๆที่ดูกันอยู่ทุกวัน ไม่ได้อยากบอกว่าอะไรดีไม่ดี หรือให้เลือกข้างไหน แต่อยากพูดว่าเราเห็นอะไรแล้วให้คนดูได้คิดต่อเอง แล้วก็หลักๆคือไม่อยากให้คนเครียด เลยทำงาน information graphic ชิ้นแรกในชีวิตขึ้นมาชื่อว่า Thailand Colour Code 2010 ที่เอาสีของเสื้อต่างๆที่ปรากฎอยู่ตามข่าว มาจัดกลุ่ม แล้วทำเป็นตารางที่บอกว่า ถ้าคุณใส่เสื้อสีนี้ตอนนี้ คุณจะเป็นคนพวกไหน แต่ก็เน้นให้ขำๆ เช่น ถ้าเลือกไม่ได้ว่าจะเป็นเสื้อเหลืองเสื้อแดง จะเป็นเสื้อส้มไหม หรือเป็นแมคโดนัลด์ ถ้าไม่เข้าข้างใครใส่เสื้อขาว แต่ก็อาจจะโดนคนข้างๆเรียกว่ากลางกลวง หรือจะเป็นคนเสื้อแพงห่วงใยแต่พารากอนก็ใส่แบรนด์เนมกันต่อไป ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็เป็นมุขที่ได้มาจากสำนักข่าวต่างๆหรือตามอ่านจากในทวิตเตอร์และเฟซบุค”




“Political DNA Decoding” งานอินโฟกราฟฟิกสะท้อนสภาพสหสของสังคมไทย หลังวิกฤติการเมืองช่วงหลายปีหลัง โดยนวลขนิษฐ์ พรหมจรรยา
จาก Thailand Colour Code 2010 ก็มีงานถัดๆมาที่พูดถึงเรื่องที่คล้ายกัน คือ Thailand Fruit Salad 2010 คือไปอ่านเจอว่าใครเขียนถึงว่าบ้านเมืองเราตอนนี้เป็นเหมือนฟรุ๊ตสลัด มีทั้งแตงโม สัประรด มะเขือเทศ ก็คิดว่า เอ้อ มันก็จริงเนอะ เลยเอากระดาษรูปกลุ่มคนนั้นๆมาพับเป็นรูปผลไม้ต่างๆ แต่รวม มะเขือเผา(รัฐบาล) แล้วก็ผักปลา(ประชาชน) เข้าไปด้วย ซึ่งจริงๆจะบอกว่าคนไทยเป็นประเทศที่มีอารมณ์ขันสูงมาก คือถึงจะเครียดแค่ไหนก็จะหามุขมาแทรกได้ ซึ่งสำหรับเรามันก็แปลกดี


“Thailand Fruit Salad 2010” งานอินโฟกราฟฟิกสะท้อนสภาพสหสีของสังคมไทย โดยนวลขนิษฐ์ พรหมจรรยา

อินโฟกราฟฟิก3ชิ้นที่เกี่ยวกับสังคมและการเมืองเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานที่เบลล์ทำเท่านั้น ความจริงยังมีชิ้นงานที่น่ารักและสร้างสรรค์อีกมากมายตามดูกันได้ที่ nuank.com 

ที่เห็นและเป็นอยู่เล่มหน้าจะมาเจาะที่มาที่ไปของดีไซเนอร์คนเก่งที่ผลิตงานเกี่ยวกับสังคมด้วยคนนี้ ในแง่มุมของการทำงานและการออกไปศึกษาในต่างแดน

ฝากทุกท่านช่วยติดตามทำความรู้จักกันครับ

No comments:

Post a Comment